Home » » หน้าที่ต่างๆของวาล์วชนิและ การทำงานของวาล์ว How to choose valve for LPG Plant?

หน้าที่ต่างๆของวาล์วชนิและ การทำงานของวาล์ว How to choose valve for LPG Plant?

khe Thursday, 24 August 2000 | 07:19


ขอขอบคุณสำหรับการเข้ามาเยี่ยมชมเว็บสายของเราและเพื่อการศึกข้อมูลเกี่ยวกับ ก๊าซและประเภทของก๊าซต่างๆที่เราได้เขียนและจักทำเพื่อให้คนที่ใคร่ศึกษา เรียนรู้เกี่ยวก๊าซ ทางเราจะพยายามจักหาข้อมูลและวิธีใช้มาให้ทุกท่านได้ศึกษา หวังอย่างยิ่งว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้ข้อมูลทุกท่าน




 

 1. Gate valve

Gate valve เป็นวาล์วชนิดที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดตัวหนึ่ง ถ้านึกไม่ออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไรให้ลองไปดูที่มิเตอร์น้ำประปาหน้าบ้าน (หวังว่าที่บ้านคงมีน้ำประปาใช้นะ) ซึ่งท่อน้ำที่ต่อแยกออกมาจากท่อหลัก ก่อนเข้ามิเตอร์จะต้องมีวาล์วปิด-เปิดอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งวาล์วตัวนี้คือ gate valve (เคยได้ยินช่างบ้านเราเรียกวาล์วตัวนี้ว่า "ประตูน้ำ") บางทีนั้นอาจติดตั้ง gate valve ไว้ทางด้านขาออกจากมิเตอร์ด้วย แต่บางที่จะติดตั้ง check valve (วาล์วกันการไหลย้อนกลับ) ไว้ทางด้านทางออกของมิเตอร์ เหตุที่ต้องมีการติดตั้ง gate valve ไว้ก่อนเข้ามิเตอร์เพื่อที่จะได้ถอดมิเตอร์ออกได้ (ไม่ว่าจะถอดเพื่อ เปลี่ยน ซ่อม หรือโดยตัดน้ำเพราะไม่จ่ายค่าน้ำ)
โครงสร้างของวาล์วนั้นจะมีส่วนที่เป็นแผ่นจาน (disk หรือ gate ดูรูปที่ 1 ประกอบ) ที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อเล็กน้อย เลื่อนขึ้น-ลงในทิศทางที่ตั้งฉากกับทิศทางการไหล เมื่อวาล์วอยู่ในตำแหน่งปิด แรงดันของของไหลทางด้าน upstream จะดันตัว disk ให้ไปยันกับตัว body ของวาล์วที่อยู่ทางด้าน downstream เป็นการปิดผนึกไม่ให้ของไหลไหลผ่านไปได้
ข้อดีของ gate valve คือมีความกว้าง (วัดในทิศทางการไหล) ไม่มาก ใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อย ค่าความดันลด (pressure drop) คร่อมวาล์วต่ำมากเมื่อวาล์วเปิดเต็มที่ เหมาะสำหรับงานประเภทปิด-เปิด วาล์วชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับใช้ในการควบคุมการไหลเพราะความสัมพันธ์ระหว่างระยะที่วาล์วเปิดกับอัตราการไหลนั้นไม่ดี (กล่าวคือบางช่วงวาล์วขยับเพียงเล็กน้อยจะมีอัตราการไหลเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่บางช่วงวาล์วขยับไปเยอะแต่อัตราการไหลเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย) และไม่เหมาะกับการเปิดหรี่หรือเปิดเพียงเล็กน้อย (crack opening) เช่นหมุน hand wheel เพียงแค่ไม่ถึง 1 รอบ เพียงแค่รู้สึกว่ามีของไหลเริ่มไหลผ่านก็หยุดหมุน (รู้ได้โดยจะมีเสียงเกิดขึ้นเมื่อมีของไหลไหลรอดผ่านช่องเปิดเล็ก ๆ ที่อยู่ระหว่างใต้แผ่นจานกับ seat ring ข้างล่าง) เพราะในขณะที่วาล์วเปิดเพียงเล็กน้อยนั้น ของไหลจะไหลผ่านด้วยความเร็วที่สูงมาก และมีความดันที่ต่ำ (pressure head เปลี่ยนไปเป็น velocity head) จะทำให้ตัวแผ่นจานเกิดการสั่นอย่างรุนแรงจนสามารถทำให้ตัวแผ่นจานหรือ seat ของตัว body เองเกิดการสึกหรอได้ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถปิดวาล์วได้สนิทอีกต่อไป



รูปที่ 1 ตัวอย่าง gate valve บางชนิด (ซ้าย) Rising spindle gate valve และ (ขวา) Fixed spindle gate valve ตัวแกนหรือ stem คือตัวที่ทำหน้าที่ยกส่วนที่เป็น disk (แผ่นที่ขวางทางการไหล) ขึ้น (เพื่อเปิด) หรือลง (เพื่อปิด) วาล์วชนิด rising spindle จะมองเห็นตัวแกนโผล่ยื่นออกมาจากรูตรงกลาง hand wheel เมื่อทำการหมุนวาล์วเพื่อเปิด และจะมองเห็นแกนจมลงไปในรูตรงกลาง hand wheel เมื่อทำการหมุนวาล์วเพื่อปิด โดยที่ตัว hand wheel จะอยู่ที่ระดับเดิม ส่วนวาล์วชนิด fixed spindle นั้นตัว disk จะเคลื่อนขึ้น-ลงตามเกลียวของ stem ที่อยู่ข้างใน bonnet เมื่อทำการหมุน spindle ทำให้ไม่มีส่วนที่โผล่ยื่นออกมาเกะกะเวลาที่วาล์วอยู่ในตำแหน่งเปิด แต่วาล์วชนิด rising spindle ก็มีข้อดีคือเพียงแค่มองก็รู้ได้ทันทีว่าวาล์วอยู่ในตำแหน่งเปิดหรือปิด โดยดูจากแกนที่โผล่ออกมาจากรูตรงกลางของ hand wheel และยังสามารถทำการหล่อลืนส่วนที่เป็นเกลียวได้ง่าย (ภาพจาก http://www.roymech.co.uk)
นอกจากนี้ในกรณีที่ความดันระหว่างด้าน upstream และ downstream ในขณะที่วาล์วอยู่ในตำแหน่งปิดนั้นแตกต่างกันมาก จะทำให้เปิดวาล์วได้ยาก เพราะแรงดันด้าน upstream จะกดให้ตัวแผ่นจานติดแน่นกับตัว body ของวาล์ว การเลื่อนให้แผ่นจานเคลื่อนที่ในทิศทางที่ตั้งฉากกับแรงกดจึงทำได้ยาก (เหมือนกันเอาคน 1 คนขึ้นไปยืนบนเสื่อ แล้วคุณกระชากเสื่อออก เขาก็จะล้มได้ แต่ถ้าเอาคน 10 คนขึ้นไปยืนบนเสื่อแล้วให้คุณกระชากเสื่อใหม่ คราวนี้คุณจะไม่สามารถทำได้เพราะมีแรงไม่พอ) ในกรณีเช่นนี้การใช้ globe valve ทำหน้าที่ปิด-เปิดจะดีกว่า
งานอีกประเภทที่ทำให้เกิดปัญหากับ gate valve ได้คือการใช้งานกับของเหลวที่มีของแข็งแขวนลอยปะปนอยู่ (ตัวอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้แก่ slurry ที่ได้จากกระบวนการ slurry polymerisation เช่นในการผลิตพลาสติก PE PP เป็นต้น) ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อทำการปิดวาล์วเพราะของแข็งที่แขวนลอยอยู่จะตกค้างอยู่ระหว่างบริเวณด้านล่างของแผ่น disk และ seat ของตัววาล์ว ทำให้วาล์วปิดไม่สนิทได้ ในกรณีเช่นนี้การใช้ ball valve จะเหมาะสมกว่า

2. Globe valve
Globe valve เป็น วาล์วที่ออกแบบมาเพื่อใช้ควบคุมอัตราการไหลของของไหล ตัวอย่างการใช้งานวาล์วประเภทนี้ได้แก่ก๊อกน้ำที่ใช้กันอยู่ในบ้านหรือใน ห้องน้ำทั่วไปที่เป็นแบบหัวหมุนได้หลายรอบ (ไม่ใช่แบบที่มีก้านเปิด-ปิดที่บิดไปเียง 90 องศา ซึ่งแบบนี้เป็น ball valve) ตัวอย่างโครงสร้างของ globe valve แสดงไว้ในรูปที่ 2 ข้างล่าง
รูปที่ 2 Globe valve (บน) โครงสร้างของวาล์วขนาดเล็ก (ล่าง) โครงสร้างของวาล์วขนาดใหญ่ (ภาพบนและภาพล่างซ้ายจาก http://www.roymech.co.uk ภาพล่างขวาจาก http://www.energy.gov.kw)
globe valve เป็น วาล์วที่มีทิศทางการไหล โดยด้านข้างของตัววาล์วจะมีลูกศรระบุทิศทางการไหลว่าต้องให้ของไหลไหลเข้า ทางด้านไหนและออกทางด้านไหน จากโครงสร้างของวาล์วที่แสดงในรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าของเหลวที่ไหลผ่านตัววาล์วจะมีการหักเลี้ยวหลายครั้งแม้ว่าวาล์วจะเปิดเต็มที่ก็ตาม ทำให้ความดันลดคร่อมตัว globe valve สูงกว่าของ gate valve การปิด-เปิดวาล์วจะอาศัยการปิด-เปิดแผ่น disk (จะ disk หรือ disc มันก็ตัวเดียวกัน) หรือ plug ที่วางตัวอยู่ในแนวเดียวกันกับทิศทางการไหล (ทิศทางการไหลในที่นี้คือจากซ้ายไปขวา) กับ ช่องเปิดที่อยู่ในแนวเดียวกันกับทิศทางการไหลเช่นเดียวกัน โดยเมื่อของไหลไหลเข้ามาในตัววาล์วนั้น ของไหลจะถูกบังคับให้ไหลลงล่างและหักเลี้ยวขึ้นข้างบน ไหลผ่านช่องว่างที่อยู่ระหว่างช่องเปิดกับแผ่น disk/plug การปรับขนาดของช่องว่างทำได้โดยการเลื่อนแผ่น disk/plug ขึ้น-ลง ซึ่งเมื่อแผ่น disk/plug เลื่อนสูงขึ้น ช่องว่างก็จะเปิดมากขึ้น ของไหลก็จะไหลผ่านได้เร็วขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลของของไหลที่ไหลผ่านวาล์วกับระยะการเคลื่อนที่ของ disk/plug นั้นจะขึ้นอยู่กับการออกแบบรูปร่างช่องเปิดและรูปล่างของตัว disk/plug ตัว disk/plug นั้น ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเป็นจานแบน อาจมีรูปร่างโค้งหรือเป็นรูปกรวยหัวตัดหรือหัวมนแบบต่าง ๆ ก็ได้ โดยการใช้รูปแบบที่เหมาะสมเราก็สามารถได้วาล์วที่มีความสัมพันธ์ระหว่าง อัตราการไหลกับระยะการเคลื่อนที่ของ disk/plug ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นรูปแบบที่เป็นเส้นตรง (กล่าวคือถ้าวาล์วเปิด 20% ของไหลก็จะไหลผ่านด้วยอัตรา 20% ของอัตราการไหลสูงสุด ถ้าวาล์วเปิด 65% ของไหลก็จะไหลผ่านด้วยอัตรา 65% ของอัตราการไหลสูงสุด) หรือจะให้เป็นวาล์วที่ให้อัตราการไหลเกือบเต็มที่เมื่อวาล์วเปิดเพียงเล็กน้อยก็ได้ (เมื่อ เริ่มเปิดวาล์วเพียงเล็กน้อย ของไหลจะไหลผ่านวาล์วด้วยอัตราการไหลที่สูงเกือบเท่าอัตราการไหลสูงสุด และเมื่อเปิดวาล์วมากขึ้นต่อไปอีก อัตราการไหลก็ไม่ได้เพิ่มมากเท่าใดนักเพราะว่าอยู่ใกล้อัตราการไหลสูงสุด แล้ว) globe valve จึงเป็นวาล์วที่เหมาะสำหรับใช้ปรับอัตราการไหล
จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าแรงดันที่ของไหลกระทำต่อแผ่น disk/plug นั้นจะอยู่ในทิศทางการเคลื่อนที่ของแผ่น disk/plug กล่าวคืออยู่ในแนวแกนของก้านวาล์ว (stem) การปิดวาล์วอาศัยการหมุนก้านวาล์วให้แผ่น disk/plug กดติดกับ seat ของช่องเปิด (ตัว seat จะมีวัสดุที่อ่อนกว่าแผ่น disk/plug รองอยู่ เพื่อให้แผ่น disk/plug แนบสนิทกับตัว seat เพื่อป้องกันการรั่วไหล (คือทำหน้าที่เป็นปะเก็น) และยังป้องกันไม่ให้แผ่น disk/plug เสียหายเมื่อถูกกดให้แนบกับผิวช่องเปิด) ไม่ได้อาศัยแรงกดของของไหลในการดันแผ่น disk/plug ให้แนบกับ seat เหมือนในกรณีของ gate valve ด้วยเหตุนี้ในกรณีที่ความดันด้าน upstream และ downstream แตกต่างกันมากในขณะที่วาล์วปิด การเปิด globe valve จึงทำได้ง่ายกว่าการเปิด gate valve และโดยการอาศัยการขันอัดแผ่น disk ให้แนบกับ seat นั้น จึงทำให้ globe valve ปิดได้แน่นสนิทกว่า gate valve (ตราบเท่าที่ผิวสัมผัสของแผ่น disk กับตัว seat ยังไม่มีความเสียหาย)
globe valve บางแบบออกแบบมาให้ตัวแผ่น disk/plug ไม่ยึดแน่นอยู่กับก้านวาล์ว แต่หมุนไปมาได้ ทั้งนี้เพื่อให้ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของแผ่น disk/plug สัมผัสกับตำแหน่งเดิมบน seat ทุกครั้งที่ปิดวาล์ว เพื่อที่จะทำให้แผ่น disk/plug เองมีการสึกหรอที่สม่ำเสมอ (เหมือนกับที่เราต้องสลับตำแหน่งยางรถยนต์เมื่อใช้ไปได้สัก 10,000 กิโลเมตรนั่นแหละ ว่าแต่ว่ามีใครทราบหรือเคยสังเกตหรือไม่ว่า รถพวงมาลัยขวาที่ขับเคลื่อนล้อหน้า (รถเก๋งส่วนใหญ่ในบ้านเรา) ยางล้อหน้าด้านขวาจะสึกหรอเร็วกว่าล้ออื่น และยางคู่หน้าจะสึกหรอเร็วกว่าคู่หลัง)
ข้อเสียของ globe valve นอกเหนือไปจากการมีความดันลดที่สูงแล้ว ก็คือขนาดและน้ำหนักของวาล์วที่มีค่ามากกว่าของ gate valve ยิ่ง globe valve ตัวใหญ่ขึ้นก็จะมีขนาดและน้ำหนักที่มากขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ในกรณีของท่อขนาดใหญ่ที่ความดันด้าน upstream และ downstream ต่างกันมาก การใช้ globe valve ขนาดใหญ่จะทำให้มีความดันลดในท่อสูงและต้องมีฐานรองรับตัววาล์วที่แข็งแรงกว่าการใช้ gate valve หรือกรณีของของไหลที่ร้อน (เช่นท่อไอน้ำ) ที่ด้าน downstream ของท่อยังเย็นอยู่ซึ่งในช่วงแรกต้องค่อย ๆ อุ่นท่อด้าน downstream ให้ร้อนขึ้นอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันการเกิด thermal shock หรือ water hammer (ในกรณีท่อไอน้ำ) ซึ่งทำได้โดยการค่อย ๆ เปิดวาล์วที่ละน้อย ๆ (crack open) จนท่อเริ่มร้อนขึ้น และเปิดเพิ่มขึ้นทีละนิดไปเรื่อย ๆ ซึ่งการควบคุมการไหลขนาดน้อย ๆ นี้ globe valve ตัวใหญ่จะทำได้ไม่ดี การแก้ปัญหาจะกระทำโดยการใช้ gate valve ตัวใหญ่ในการทำหน้าที่ปิด-เปิดท่อหลัก (เช่นท่อหลักอาจมีขนาด 12 นิ้ว) และมี globe valve ตัวเล็กในท่อ bypass ที่มีขนาดเล็กกว่าท่อหลัก (เช่นท่อ bypass อาจมีขนาด 1 นิ้ว) ที่อ้อมผ่าน gate valve ไปดังแสดงในรูปที่ 3 โดยเมื่อเริ่มทำการเปิดท่อนั้นจะเริ่มจากการค่อย ๆ เปิด globe valve ที่อยู่บนท่อ bypass จะเมื่อความดันหรืออุณหภูมิทางด้าน downstream อยู่ที่ระดับที่เหมาะสมแล้วก็จะทำการเปิด gate valve ตัวใหญ่ที่อยู่บนท่อหลักได้ และปิด globe valve ที่อยู่บนท่อ bypass
ในกรณีของของไหลที่มีของแข็งปนอยู่ ของแข็งนั้นอาจตกค้างบนผิว seat ทำให้เกิดปัญหา globe valve ปิดได้ไม่สนิทเช่นเดียวกันกับ gate valve
 
รูปที่ 3 การใช้ globe valve ตัวเล็กในท่อ bypass เพื่อช่วยในการเปิดท่อขนาดใหญ่ที่มีความดัน/อุณหภูมิด้าน upstream cและ downstream แตกต่างกันมาก
3. Needle valve
needle valve จัดว่าเป็นญาติสนิทของ globe valve โดย needle valve ทำหน้าที่ในการควบคุมอัตราการไหลเช่นเดียวกันกับ globe valve แตกต่างกันที่ needle valve จะใช้ในงานที่ต้องการการควบคุมการไหลที่มีความละเอียดสูง (โดยปรกติก็ที่อัตราการไหลไม่มาก) ดังนั้นเราจึงมักพบการใช้งาน needle valve กับระบบขนาดเล็ก เช่นระบบแก๊สท่อในอุปกรณ์วัดหรือในห้องปฏิบัติการวิจัย แต่ไม่พบเห็น needle valve ในระบบขนาดใหญ่
รูปที่ 4 (บน) ตัวอย่างโครงสร้างของ Needle valve ขนาดเล็ก (ภาพจาก http://www.vehydraulics.com) และ (ล่าง) การติดตั้ง
needle valve เป็นวาล์วที่มีทิศทางการไหลเช่นเดียวกับ globe valve ความแตกต่างระหว่าง needle valve และ globe valve อยู่ตรงที่การออกแบบช่องเปิดและรูปร่างของตัว plug โดยช่องเปิดของ needle valve จะมีขนาดเล็กกว่าช่องเปิดของ globe valve และตัวปลั๊กของ needle valve จะมีลักษณะเป็นกรวยที่มีความเรียวยาวค่อย ๆ เล็กลงที่ปลาย จากการที่ส่วน plug ของ needle valve มีลักษณะที่เรียวเล็กดังกล่าวจึงทำให้ตัว plug ไม่แข็งแรงพอที่จะรับแรงกดถ้าหากทำการกดให้ตัว plug แนบแน่นกับ seat ของตัว body ของวาล์ว เพราะการกดดังกล่าวอาจทำให้ตัว plug เกิดความเสียหายหรือสูญเสียรูปร่างได้ ดังนั้นทางผู้ผลิตจึงออกแบบให้ตัว plug ของ needle valve นั้นไม่สัมผัสกับ seat ของตัว body ของวาล์ว แต่จะมีช่องว่างอยู่เล็กน้อย จึงทำให้เมื่อเราหมุน plug ของ needle valve ลงจนสุดแล้ว วาล์วก็ยังปิดไม่สนิท (ซึ่งแตกต่างจาก globe valve ที่สามารถปิดได้สนิท) ดังนั้นการติดตั้ง needle valve ที่ถูกต้องจึงต้องมีการใช้ block valve (ซึ่งมักเป็น gate valve หรือ ball valve) ร่วมด้วยดังแสดงในรูปที่ 4 ข้างบน
4. Ball valve
ball valve เป็น วาล์วตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดคือตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ที่ใช้ก๊อกน้ำแบบที่เป็นก้านหมุนเพียง 90 องศาก็สามารถเปิดวาล์วได้เต็มที่หรือปิดวาล์วได้สนิท ตัวอย่างโครงสร้างของ ball valve แสดงไว้ในรูปที่ 5 ข้างล่าง
รูปที่ 5 (ซ้าย) ภาพตัดขวาง Ball valve (ภาพจาก http://www.roymech.co.uk) และ (ขวา) การทำงานของ ball valve ที่มีรูระบายความดัน
ส่วนที่ทำหน้าที่ปิด-เปิดของ ball valve คือตัวลูกบอลที่มีรูเจาะทะลุ (สีแดงในรูปที่ 5 ด้านขวา) อยู่ ตรงกลาง โดยการหมุนให้รูเจาะทะลุอยู่ในแนวท่อก็จะเป็นการเปิดวาล์วเต็มที่ และการหมุนให้รูเจาะทะลุอยู่ในแนวตั้งฉากกับท่อก็จะเป็นการปิดวาล์ว การปรับอัตราการไหลทำได้โดยการบิดให้ลูกบอลทำมุมระหว่างตำแหน่งเปิดเต็มที่ และตำแหน่งปิด
เมื่อเทียบกับ gate valve ที่ใช้กับท่อขนาดเดียวกันแล้ว ball valve จะมีขนาดใหญ่กว่าและหนักกว่า (ก็มันใช้ลูกบอลแทนแผ่นจานแบน ๆ ในการปิด-เปิดวาล์ว) และยังต้องใช้พื้นที่โดยรอบที่กว้างกว่าในการเปิดปิดวาล์ว เช่นวาล์วสำหรับท่อขนาด 6 นิ้วจะต้องใช้ก้านหมุนที่มีรัศมีประมาณ 1 เมตร (ถ้าจำไม่ผิด) ในการปิด-เปิด วาล์ว วาล์วขนาดใหญ่บางตัวจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยเฟืองทดในการ บิดลูกบอลให้หมุนไปมา ซึ่งทำให้ประหยัดพื้นที่แต่ก็ไปลดความเร็วในการปิด-เปิดลง ball valve ที่ ใช้กันในโรงงานนั้นตัวก้านหมุนจะไม่ยึดติดกับแกนหมุน แต่จะถอดออกได้ เวลาใช้ก็จะสวมครอบลงไปเหมือนกับการใช้ประแจขันนอต การที่ทำให้ถอดก้านหมุนวาล์วออกได้ก็เพื่อไม่ให้ก้านหมุนยื่นออกมาเกะกะหรือ ทำให้วาล์วหมุนเนื่องจากคนเดินชนโดยไม่ตั้งใจได้ การดูว่าวาล์วอยู่ในตำแหน่งเปิดหรือปิดจึงต้องดูจากร่องบากที่อยู่บนแกนหมุน ลูกบอล ก้านหมุนวาล์วที่ถอดออกมานี้ ถ้าเป็นวาล์วตัวเล็กก็มักจะทำโซ่คล้องห้อยอยู่ข้าง ๆ ตัววาล์ว แต่ถ้าเป็นวาล์วตัวใหญ่ก็มักจะนำไปเก็บไว้ที่อื่น เวลาจะใช้แต่ละครั้งก็ค่อยเบิกมาใช้
ball valve ก็ มีข้อดีตรงที่สามารถปิดสนิทหรือเปิดเต็มที่ได้อย่างรวดเร็ว รับความดันได้สูง ใช้งานได้ดีกับของไหลที่มีของแข็งปะปนอยู่ ในกรณีของ ball valve ที่ ใช้กับของไหลที่อันตรายหรือที่ในระบบที่มีความดันสูงนั้น ตัวท่อเจาะทะลุที่ให้ของไหลไหลผ่านจะมีรูระบายความดันซึ่งเป็นรูเจาะทะลุ เล็ก ๆ อยู่ในแนวตั้งฉากกับช่องทางให้ของไหลไหลผ่าน (ดูรูปที่ 5 ประกอบ) ในการปิดวาล์วนั้นจะต้องติดตั้งวาล์วให้รูระบายความดันนั้นหันออกไปทางด้าน downstream เพื่อเป็นการระบายความดันและ/หรือสารเคมีต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ในช่องทางการไหลออกไป เพราะถ้าไม่มีรูดังกล่าว เวลาปิดวาล์วจะมีความดัน/สาร เคมีตกค้างอยู่ในช่องทางการไหลดังกล่าว และถ้าถอดวาล์วออกมาเพื่อทำการซ๋อมบำรุงก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ทำ การถอดชิ้นส่วนวาล์วได้
ball valve อาจใช้วัสดุพอลิเมอร์ (ตรงที่เป็นสีเขียวอ่อนในรูป) เป็นตัวปิดผนึกกันการรั่วซึมระหว่าง body ของตัววาล์วกับตัวลูกบอล ซึ่งวัสดุพอลิเมอร์มักจะทนอุณหภูมิสูงสู้โลหะไม่ได้ ดังนั้นในการใช้งาน ball valve จึงต้องคำนึงถึงอุณหภูมิการใช้งานด้วย ส่วน gate valve นั้นไม่มีวัสดุพอลิเมอร์ในการปิดผนึกกันการรั่วซึม จึงใช้งานที่อุณหภูมิสูงได้ดี
ประสบการณ์หนึ่งที่เคยเจอกับ ball valve ใน แลปคือมีการถอดก้านหมุนออกมาเพื่อประกอบวาล์วเข้ากับแผงควบคุม แต่เวลาใส่ก้านหมุนวาล์วกลับคืนไม่ได้ตรวจดูว่าตำแหน่งก้านวาล์วที่ใส่เข้า ไปกับตำแหน่งลูกบอลอยู่ตรงกันหรือไม่ ผลก็คือกลายเป็นว่าเมื่อก้านหมุนอยู่ในแนวเดียวกับแนวท่อวาล์วจะอยู่ใน ตำแหน่งปิด (ที่ถูกต้องคือต้องอยู่ในตำแหน่งเปิด) และเมื่อก้านหมุนอยู่ในแนวตั้งฉากกับตัวท่อวาล์วกลับอยู่ในตำแหน่งเปิด (ที่ถูกต้องคือต้องอยู่ในตำแหน่งปิด) และอีกครั้งหนึ่งคือใส่ก้านไม่เข้าตำแหน่งดี (ขนาดเขาทำร่องบากให้ใส่ได้พอดีไว้แล้ว) ก็ใช้วิธีฝืนขันอัดเข้าไป ตอนที่ก้านวาล์วอยู่ในตำแหน่งปิดวาล์วก็เลยยังมีแก๊สรั่วไปออกมา ทำให้ผลการทดลองที่ได้มีปัญหาอยู่ตลอด
5. Plug valve
plug valve จัดว่าเป็นญาติผู้ใกล้ชิดกับ ball valve และดูเหมือนว่าจะมีมาก่อนแล้วด้วย ตัวอย่างโครงสร้างของ plug valve แสดงไว้ในรูปที่ 6 ข้างล่าง แต่ถ้ายังอยากเห็นตัวจริงก็ลองไปดูที่ stop cock ของบิวเรตหรือพวกกรวยแยก หรือวาล์วปิด-เปิดที่อยู่ตามท่อเครื่องแก้วต่าง ๆ ในแลปนั่นแหละ plug valve
รูปที่ 6 ตัวอย่างโครงสร้างของ plug valve (ภาพจาก http://www.roymech.co.uk) ชนิดเติมสารหล่อลื่นได้ โดยการอัดสารหล่อลื่นเข้าทางช่องของ lubricant screw ให้สารหล่อลื่นไหลลงไปตามท่อไปหล่อลื่นส่วนล่างของ plug valve

plug valve ทำหน้าที่ได้เหมือน ball valve แต่ในปัจจุบันจะไม่ค่อยเห็นการเลือกใช้ plug valve แต่จะใช้ ball valve ทำ หน้าที่แทน สาเหตุเป็นเพราะอะไรก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่คิดว่าเป็นเพราะวัสดุพอลิเมอร์ที่ใช้เป็นตัวปิดผนึกกันการรั่วซึมระหว่าง ตัววาล์วกับลูกบอลของ ball valve ได้รับการพัฒนาให้สามารถทนต่อสารเคมีและสภาวะการใช้งานได้ดีขึ้น แต่จะว่าไปแล้ว plug valve ก็มีข้อดีกว่า ball valve ตรงที่จะมีขนาดเล็กกว่าเพราะไม่ได้ใช้ลูกบอลกลม ๆ มาเจาะรูเหมือนของ ball valve
6. Butterfly valve
Butterfly valve หรือที่บ้านเราเรียกว่าวาล์วปีกผีเสื้อทำหน้าที่ได้เช่นเดียวกันกับ ball valve และ plug valve โครงสร้างของ butter fly valve นั้นจะใช้แผ่นจานแบน ๆ หมุนไปมาได้ในมุม 90 องศา ถ้าแผ่นจานนี้วางตัวขนานกับทิศทางการไหล ก็จะเป็นการเปิดวาล์วเต็มที่ และถ้าวางตั้งฉากกับทิศทางการไหลก็จะเป็นการปิดวาล์ว ซึ่งเป็นการทำงานเช่นเดียวกันกับ damper ที่ใช้ปิด-เปิดลมเย็นในระบบปรับอากาศในอาคารต่าง ๆ การที่ใช้แผ่นจานแทนการใช้ลูกบอลหรือ plug ในการปิดกั้นการไหลจึงทำให้ butterfly valve มีขนาดเล็กกว่า ball valve และ plug valve (คือจะแคบกว่าเมื่อวัดในทิศทางการไหล) และ มีน้ำหนักเบากว่าด้วย แต่โครงสร้างที่เป็นแผ่นจานดังกล่าวทำให้ไม่สามารถรับแรงดันและอุณหภูมิที่ สูงได้ ดังนั้นเราจึงมักเห็นการใช้ butterfly valve ในท่อขนาดใหญ่กับสารที่ไม่มีอันตรายใด ๆ เช่นท่อน้ำหล่อเย็น ท่ออากาศของระบบทำความเย็น
รูปที่ 7 Butterfly valve (ซ้าย) วาล์วขนาดเล็กใช้ก้านหมุนในการปิด-เปิดวาล์ว (ภาพจาก www.made-in-china.com) และ (ขวา) วาล์วขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบเฟืองทดในการปิด-เปิด (ภาพจาก www.cometmarine.com)
จาก การที่ใช้การหมุนแผ่นจานในการขวางทิศทางการไหล ทำให้ตัวแผ่นจานถูกของไหลดันให้หมุนไปจากตำแหน่งที่ต้องการได้ ดังนั้นเราจึงมักเห็นก้านหมุน butterfly valve จะมีเฟืองสำหรับตรึงตำแหน่งวาล์วว่าจะให้ปิด-เปิดมากน้อยเท่าใด ซึ่งโครงสร้างแบบนี้จะไม่พบเห็นใน ball valve หรือ plug valve และสำหรับวาล์วตัวใหญ่นั้นจะใช้ระบบเฟืองทดช่วยในการปิดเปิด

7. Diaphragm valve
วาล์ว ทุกชนิดที่กล่าวมาข้างต้นจะมีข้อเสียอยู่อย่างคือของไหลที่ไหลอยู่ในท่อมี โอกาสที่จะรั่วซึมออกมาทางผิวสัมผัสที่เกิดจากการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัววาล์วเข้าด้วยกัน (โดยเฉพาะตามแนว stem ออกมา) ในกรณีของสารเคมีที่เป็นอันตรายมาก การรั่วไหลดังกล่าวแม้ว่าจะน้อยมากก็ไม่อาจยอมรับได้ ซึ่งในงานแบบนี้ diaphragm valve จะทำหน้าที่ได้ดีกว่า
รูปที่ 8 โครงสร้างภายในของ Diaphragm valve (1) แผ่นไดอะแฟรม (2) seat
การทำงานของ diaphragm valve จะใช้การกดแผ่นไดอะแฟรม (1) ซึ่งทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น (ซึ่งมักเป็นวัสดุพวกพอลิเมอร์) ให้ลงไปกดแนบกับ seat (2) ที่ อยู่ข้างล่าง ก็จะเป็นการปิดวาล์ว เมื่อเราลดแรงกดด้วยการขันนอตที่ทำหน้าที่กดแผ่นไดอะแฟรมให้ยกตัวสูงขึ้น ตัวแผ่นไดอะแฟรมก็จะยกตัวขึ้นด้วยคุณสมบัติการยืดหยุ่นของมันเอง ทำให้วาล์วเปิดตัว หลักการเดียวกันกับเวลาที่หมอหรือพยาบาลปรับอัตราการไหลของน้ำเกลือที่ใหั กับผู้ป่วย ซึ่งเขาใช้วิธีบีบสายยางให้น้ำเกลือ (ไม่รู้ว่าเคยโดนบ้างหรือยัง ถ้ายังไม่เคยโดยก็ถือว่าโชคดีมาก)
ไดอะแฟรมวาล์วทำงานได้ดีกับของเหลวที่มีของแข็งแขวนลอยปะปนอยู่ เพราะแม้ว่าจะมีของแข็งตกค้างอยู่บริเวณ seat ใน ขณะที่ทำการปิดวาล์ว แต่ด้วยความยืดหยุ่นของแผ่นไดอะแฟรมเองก็ทำให้สามารถปิดวาล์วได้สนิทได้ แต่การใช้แผ่นไดอะแฟรมทำให้วาล์วชนิดนี้ไม่สามารถใช้งานได้ที่อุณหภูมิและ ความดันที่สูง
MO Memoir ฉบับนี้ร่ายยาวมาเกือบสุดหน้าที่ 9 แล้ว คงต้องพอก่อน ฉบับต่อไปคงเป็นเรื่องของวาล์วกันการไหลย้อนกลับ (check valve หรือ non-return valve) และพวกวาล์วระบายความดัน (safety valve และ relief valve)

0 comments:

Post a Comment

Blog Archive